Exclusing Offer For Thai Residents

Blog

Feb 03 2020

โปรตีนถั่วเหลือง (Soy Protein) ดีต่อผู้หญิงอย่างไร?


Menopause, โปรตีนถั่วเหลือง (Soy Protein)

โปรตีนถั่วเหลือง (Soy Protein) ดีต่อผู้หญิงอย่างไร?

โปรตีนถั่วเหลือง ชื่อคุ้นหูที่หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วมันคืออะไร จัดอยู่ในประเภทเดียวกับเต้าหู้ นมถั่วเหลือง หรือซอสถั่วเหลืองหรือไม่? โปรตีนถั่วเหลืองใช่โปรตีนเกษตรหรือเปล่า? วันนี้ MikaNutra จะมาไขข้อข้องใจให้ทุกคนได้รู้ลึก รู้จริงเกี่ยวกับโปรตีนถั่วเหลืองสกัดกันค่ะ

ถั่วเหลืองคืออะไร?

ถั่วเหลือง (soy) เป็นพืชตระกูลถั่วที่ได้รับความนิยมอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในแถบเอเชีย ไม่ว่าจะนำมาใช้เป็นอาหาร เช่น เต้าหู้, นมถั่วเหลืองหรือผลิตภัณฑ์ถั่วที่นำมาหมักเพื่อใช้เป็นเครื่องปรุงรส เช่น ซีอิ๊ว, โชยุ, ถั่วเน่า (Nutto) และเทมเป้ (Tempe) ถั่วเหลืองเป็นพืชที่ให้โปรตีนสูงและมีกรดอะมิโนจำเป็นครบทุกชนิด และในปัจจุบันโปรตีนถั่วเหลืองสามารถทานได้ขึ้น โดยไม่ต้องทานถั่วทั้งเมล็ด นั่นคือการสกัดเอากากใยและไขมันและสิ่งเจือปนออก เหลือไว้เพียงโปรตีนบริสุทธิ์ 90 – 95% และเรียกว่า Isolated Soy Protein หรือ โปรตีนถั่วเหลืองสกัด

นอกจากนี้ถั่วเหลือยังนิยมนำมาทำเป็นเต้าหู้ อาหารโปรตีนสูงที่ปัจจุบันเป็นที่นิยมทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพและผู้ที่รับประทานอาหารประเภทวีแกนและมังสวิรัติ

โปรตีนถั่วเหลืองสกัดและโปรตีนเกษตร

โปรตีนถั่วเหลืองสกัด (Isolated Soy Protein) คือโปรตีนถั่วเหลืองที่สกัดกากใยและไขมันออกไป เหลือไว้เพียงโปรตีนเข้มข้นที่ร่างกายสามารถนำไปใช้ได้รวดเร็วกว่าโปรตีนรูปแบบปกติ อาทิ เนื้อสัตว์ ถั่วและอื่นๆ ที่ต้องใช้เวลาในการย่อยและดูดซึมเพื่อให้ได้สารอาหารที่ร่างกายควรจะได้ แต่ก็ไม่แน่เสมอไปที่ร่างกายจะสามารถย่อยและดูดซึมโปรตีนที่ทานเข้าไปได้

การทานโปรตีนถั่วเหลืองสกัดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลา มีปัญหาเกี่ยวกับการย่อยอาหาร หรือผู้ที่รักสุขภาพที่สนใจการทานโปรตีนรูปแบบใหม่ที่ช่วยให้ร่างกายได้รับสารอาหารเร็วขึ้น

โปรตีนเกษตร (Textured Vegetable Protein : TVP) ถือว่าเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำมันถั่วเหลือง โปรตีนเกษตรนั้นทำมาจากแป้งถั่วเหลืองที่ผ่านการสกัดไขมันออกไปและผ่านกระบวนการเอ็กซทรูชั่นด้วยความดันและอุณหภูมิสูงจนได้มาเป็นโปรตีนเกษตรแห้งรูปทรงต่าง ๆ ที่วางขายให้เห็นตามท้องตลาดพร้อมให้นำไปประกอบอาหารเป็นแหล่งโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ได้

โปรตีนเกษตร ประกอบด้วยโปรตีนจากถั่วเหลืองมากถึง 50% ซึ่งโปรตีนจากถั่วเหลือง มีคุณค่าทางโภชนาการสูงเนื่องจากมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายครบทุกชนิด โปรตีนเกษตร ใช้ประกอบเป็นอาหารเจ อาหารมังสวิรัติ มีราคาถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับเนื้อสัตว์ 

ประโยชน์ของโปรตีนถั่วเหลือง

1. ช่วยเสริมฮอร์โมนเพศหญิง

Isoflavone เป็นสารสำคัญกลุ่ม Phytoestrogen ที่พบในถั่วเหลือง ซึ่งถั่วเหลือง 1 กรัมจะมี Isoflavone อยู่ประมาณ 3.5 มิลลิกรัม และ Isoflavone นี้จะช่วยเสริมฮอร์โมนเพศหญิง เนื่องจาก Isoflavone มีโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเพศหญิงหรือฮอร์โมนเอสโตรเจน เมื่อเราทาน Isolated Soy Protein เข้าไปแล้ว ตัวรับฮอร์โมน (Estrogen receptor) ที่ปกติแล้วจะจับกับ Estrogen ก็จะมาจับกับ isoflavone แทน ดังนั้น Isoflavone จึงช่วยลดอาการวัยทองได้

จากสถิติพบว่าผู้หญิงประเทศญี่ปุ่นที่ทานผลิตภัณฑ์จากถั่วมาก มีอัตราการเป็นโรคมะเร็งเต้านม, โรคเกี่ยวกับระบบหัวใจ (cardiovascular disease) และมีอาการวัยทองต่ำกว่าผู้หญิงในประเทศฝั่งตะวันตก และมีงานวิจัยมากมายที่พบว่า Isolated Soy Protein ช่วยเสริมฮอร์โมนให้ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนได้มากถึง 14% จึงช่วยลดอาการวูบวาบ (Hot flush) และช่วยอาการวัยทอง เช่น ร้อนๆหนาวๆ, อารมณ์เปลี่ยนแปลงเร็ว, ไม่มีสมาธิหรืออาการนอนไม่หลับ จากการรวบรวมและรีวิวงานวิจัยทั้งหมด 19 ฉบับในปี 2012 รายงานว่า Isoflavone จากถั่วเหลืองช่วยลดอาการ Hot flush ได้ มากถึง 26%

แต่อย่างไรก็ตามยังได้ผลที่ช้ากว่าการบำบัดด้วยการทานฮอร์โมนตรงๆ แต่ Isolated soy protein มีข้อดีที่เป็นโปรตีนพืชบริสุทธิ์จากธรรมชาติ

2. ลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ

เนื่องการทาน Isolated Soy Protein มีสมบัติ Hypocholesterolemic หรือมีสมบัติในการช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ในปี 1999 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US-FDA)

แนะนำให้ทานโปรตีนถั่วเหลือง 25 กรัมต่อวันเพื่อช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและอีกกว่า 10 ประเทศก็แนะนำในแนวทางเดียวกัน นอกจากช่วยลดระดับ LDL-Choesterol (ไขมันไม่ดี)ได้ประมาณ 5%แล้ว Isolated Soy Protein ยังช่วยเพิ่มระดับ HDL หรือไขมันดีได้ประมาณ 1-3% ด้วย ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้

3. ช่วยบำรุงกระดูก

เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจนในผู้หญิงลดลงในช่วงวัยหมดประจำเดือน ทำให้มวลกระดูกลดลง ซึ่งทำให้คนกลุ่มนี้กระดูกเปราะหรือหักง่ายขึ้น จากการศึกษาพบว่าผู้หญิงที่ทานถั่วเหลืองสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกเปราะได้ถึง 1 ใน 3 นอกจากนี้จากการศึกษาระยะสั้น (50วัน) พบว่า เมื่อทาน Isoflavone 105 มิลลิกรัมต่อวันช่วยเพิ่มแคลเซียมในกระดูกได้ 7.6%

ดังนั้นการทาน Isolated Soy Protein ที่ประกอบด้วย Isoflavone จึงช่วยบำรุงสุขภาพกระดูกได้ โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

4. ลดความเสี่ยงมะเร็งเต้านม

มีการวิจัยในผู้หญิงที่ทานถั่วเหลืองในระดับต่ำ, ปานกลางและสูง พบว่าผู้หญิงที่ทานถั่วเหลืองสูงมีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมน้อยกว่ากลุ่มผู้หญิงที่ทานถั่วเหลืองปานกลางและน้อย และยังพบว่า Isoflavone ที่มีโครงสร้างคล้าย Estrogen ทำหน้าที่ลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมได้ดีกว่าโครงสร้างของฮอร์โมน Estrogen จริง แต่รายงานของ Women’s Health Initiative ได้ให้ข้อมูลว่าการรักษาด้วยฮอร์โมน Estrogen ก็ลดการแพร่ขยายของมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน

5. บำรุงผิว

มีการวิจัยหนึ่งได้ทดลองแบ่งหญิงวัยหมดประจำเดือนอายุ  50-65 ปี จำนวน 20 คนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งทาน Soy protein 20 กรัมต่อวันเป็นเวลา 3 เดือนอีกกลุ่มทานยาหลอก (placebo) และผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่ทาน Soy protein ริ้วรอยจางลง, สีผิวสว่างขึ้นและผิวดูดีขึ้น การทาน Soy protein จึงช่วยสุขภาพบำรุงผิวได้

6. ทดแทนโปรตีนจากสัตว์

Isolated Soy Protein ถูกนำมาใช้ทดแทนโปรตีนจากสัตว์สำหรับผู้บริโภคกลุ่มที่ทานมังสวิรัติหรือผู้ที่แพ้โปรตีนจากนม เช่น นำ Isolated Soy Protein มาทำ Vegan meat หรือเนื้อสำหรับผู้ทานมังสวิรัติ หรือนำมาทำผงนมสำหรับเด็กที่แพ้นมวัวได้ (soy infant formula) เพราะ Isolated Soy Protein มีกรดอะมิโนจำเป็นครบทุกชนิดตามที่ FDA หรือองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกากำหนดไว้ และ Isolated Soy Protein ยังมีค่า Protein digestibility corrected amino acid scores (PDCAAS) หรือค่าวัดคุณภาพของโปรตีน เทียบเท่ากับโปรตีนจากสัตว์ เช่น โปรตีนนม (Casein) และ โปรตีนไข่ขาว และให้ค่า PDCAAS สูงสุดในบรรดาโปรตีนจากพืชอื่นๆด้วย

ข้อควรระวังเกี่ยวกับโปรตีนถั่วเหลือง

Isolated Soy Protein อาจมีผลต่อผู้ที่เป็นโรคไทรอยด์ เนื่องจาก Isoflavones ในถั่วเหลือง หรือ goitrogens ในถั่วเหลืองอาจยับยั้งการผลิตฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ แต่จากการศึกษาหลายๆงานวิจัยพบว่า Isolated Soy Protein มีผลเพียงเล็กน้อยเท่านั้น หากไม่ทานมากเกินไปก็ไม่มีผลใดๆ

เนื่องจาก Isolated Soy Protein มีลักษณะโครงสร้างคล้ายฮอร์โมน Estrogen และผู้ชายอาจกังวลว่าการทาน Isolated Soy Protein อาจทำให้ฮอร์โมน Testosterone ลดลง แต่งานวิจัยหลายๆฉบับก็ไม่พบว่ามีผลต่อฮอร์โมน Testosterone แต่อย่างใด แต่ยังอาจช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย

อ้างอิง

Draelos, Z.D.; Blair, R.; Tabor, A. Oral soy supplementation and dermatology. Cosmet. Dermatol. 2007, 20, 202–204

Manson, J.E.; Chlebowski, R.T.; Stefanick, M.L.; Aragaki, A.K.; Rossouw, J.E.; Prentice, R.L.; Anderson, G.;Howard, B.V.; Thomson, C.A.; LaCroix, A.Z.; et al. Menopausal hormone therapy and health outcomes during the intervention and extended poststopping phases of the Women’s Health Initiative randomized trials. JAMA 2013, 310, 1353–1368.

Taku, K., Melby, M., Kronenberg, F., Kurzer, M., & Messina, M. (2012). Extracted or synthesized soybean isoflavones reduce menopausal hot flash frequency and severity. Menopause: The Journal Of The North American Menopause Society, 19(7), 776-790.

US-FDA. (1999). Food labelling: Health claims; soy protein and coronary heart disease. Final rule. Federal Register 64:57700-33. United States Food and Drug Administration (US-FDA), HHS.

Messina M. (2016). Soy and Health Update: Evaluation of the Clinical and Epidemiologic Literature. Nutrients, 8(12), 754.

    Related Posts

    2 thoughts on “โปรตีนถั่วเหลือง (Soy Protein) ดีต่อผู้หญิงอย่างไร?

    Leave a Reply

    Your email address will not be published. Required fields are marked *

    Scroll To Top